นี่เรากำลังโดน gaslighting ในที่ทำงานหรือเปล่านะ?

นี่เรากำลังโดน gaslighting ในที่ทำงานหรือเปล่านะ?

เคยได้ยินคำว่า "พี่เตือนเพราะความหวังดี" หลายคนอาจจะสงสัยว่าพี่เขาหวังดีจริงไหมนะ เพราะไม่มีใครอยากเจอเจ้านาย Toxic แต่บางครั้งด้วยโชคตะตาก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ มีงานวิจัยพบว่าเจ้านายเกือบ 30% มีความ Toxic ในระดับเล็กน้อยถึงรุนแรง โดยเฉพาะเจ้านายที่ชอบ Gaslighting

Gaslighting คืออะไร? 

แปลตรงตัว คือ “การรมควัน” หรือสแลงไทยอาจจะใกล้คำว่า "วางยา" เป็นรูปแบบการทำร้ายจิตใจที่น่ากลัวแบบหนึ่ง เพราะมันแฝงตัวมาในพฤติกรรมที่กัดกร่อนจิตใจและบิดเบือนความทรงจำของเหยื่อ ทำให้เหยื่อสงสัยในการกระทำและความคิดของตัวเอง

ตัวอย่างพฤติกรรม Gaslighting

  1. บิดเบือนความจริงอย่างต่อเนื่อง เช่น เจ้านายอาจเคยต่อว่าคุณอย่างแรง แต่พอคุณทักท้วง เขากลับบอกว่า "พี่ไม่เคยพูดแบบนั้น เธอคงจำผิด" (ทั้งที่เจ้าตัวเคยพูดจริง) "พี่ว่าเธอเข้าใจผิด ที่พี่พูดเพราะหวังดีกับเธอนะ"
  2. ทำให้เหยื่อสงสัยในความทรงจำและสิ่งที่รับรู้ เช่น เปลี่ยนเป้าหมายหรือความคาดหวังจากคุณบ่อยๆ โดยไม่มีเหตุผล หรือไม่ยอมรับในสิ่งที่เคยตกลงกันไว้
  3. ทำลายความมั่นใจอย่างแนบเนียน เช่น วิจารณ์การทำงานแบบกำกวม ไม่มีเหตุผลชัดเจน หรือกีดกันไม่ให้คุณเข้าถึงข้อมูลสำคัญ

สังเกตอย่างไรว่าเรากำลังถูก Gaslighting?

  1. คุณเริ่มสงสัยในความทรงจำและการตัดสินใจของตัวเอง
  2. คุณรู้สึกว่าต้องขออนุญาตหรือขอความเห็นจากเจ้านายในทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องเล็กน้อย
  3. คุณมักพูดประโยคแบบ "ฉันคงคิดไปเองมั้ง" หรือ "บางทีฉันอาจจะเข้าใจผิด"
  4. คุณรู้สึกว่าตัวเองพยายามแค่ไหนก็ไม่เคยดีพอ
  5. คุณเริ่มสงสัยในความสามารถของตัวเอง ทั้งที่เมื่อก่อนทำงานได้ดี

ถ้ารู้สึกเกินสัก 3 ข้อ ก็เป็นไปได้สูงแล้วว่าเจ้านายอาจกำลัง Gaslighting เราอยู่ มาดูวิธีรับมือเมื่อต้องทำงานกับคนแบบนี้กัน

วิธีเอาตัวรอดจากเจ้านายที่ชอบ Gaslighting 

  1. สื่อสารให้ชัดเจนและมีหลักฐานทุกครั้ง จดบันทึกการพูดคุย เวลามีประชุมควรหาพยานไว้ช่วยยืนยัน ใช้อีเมลสรุปบทสนทนาและข้อตกลงต่างๆ และ CC ทีมงานคนอื่นในอีเมลตามความเหมาะสม
  2. ปกป้องสุขภาพจิตตัวเอง สร้างระยะห่างทางอารมณ์จากพฤติกรรมที่เป็นพิษ มองว่าพฤติกรรมของเขาเป็นเรื่องแยกจากตัวคุณ ยืนยันคุณค่าในตัวเองด้วยการเตือนตัวเองว่าปัญหาอยู่ที่เจ้านาย ไม่ใช่คุณ ทำกิจกรรมที่สร้างความสุข เช่น ออกกำลังกาย ทำสมาธิ เขียนไดอารี่ ฯลฯ
  3. สร้างเครือข่ายซัพพอร์ต รายล้อมตัวเองด้วยเพื่อนและคนที่ซัพพอร์ตคุณ หากิจกรรมผ่อนคลายนอกที่ทำงาน ปรึกษานักบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญ หรือสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำคนอื่นในองค์กร
  4. ลดการติดต่อโดยตรง หลีกเลี่ยงการพูดคุยที่ไม่จำเป็น ใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นแทน หาที่ปรึกษาและสร้างคอนเน็คชั่นกับคนที่เห็นคุณค่าในตัวคุณดีกว่า
สรุป หัวหน้า Gaslighting เป็นปัญหาที่รับมือได้ แต่ถ้าเขาไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลง ทางที่ดีที่สุดอาจเป็นการลาออก อย่าปล่อยให้ตัวเองทนอยู่ในสภาพแวดล้อม Toxic นานเกินไป จำไว้ว่ายิ่งอยู่นาน จิตใจยิ่งแย่ลง และจะฟื้นตัวได้ช้าลงด้วย คิดถึงสุขภาพและความสุขของตัวเองต้องมาก่อน